วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประเทศไทย: พรรคการเมืองต้องเคารพสิทธิมนุษยชนภายหลังการเลือกตั้ง

ประเทศไทย: พรรคการเมืองต้องเคารพสิทธิมนุษยชนภายหลังการเลือกตั้ง

NEW&UPDATE NEW&UPDATE
1 กรกฎาคม 2554

พรรคการเมืองในไทยจะต้องแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในวันนี้ ในโอกาสก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสามปี

ประเทศไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม โดยเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทยที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่อยู่ระหว่างการลี้ภัยเป็นผู้นำ กับพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและบรรดาผู้มีอำนาจทางการเมือง ทักษิณได้ถูกโค่นจากตำแหน่งเนื่องจากการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549

“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสของทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะผู้ได้รับชัยชนะ เพื่อที่จะยุติสถิติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศที่เลวร้ายลงอย่างมาก” เบนจามิน ซาวัคกี นักวิจัยด้านประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“ประเทศไทยต้องหันมาให้ความสำคัญต่อวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ ชะตากรรมของผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติ เสรีภาพในการแสดงความเห็นที่เลวร้ายลง และการสังหารเนื่องจากมูลเหตุทางการเมืองหลายครั้งที่ปราศจากความรับผิดชอบ”

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงได้ปราบปรามผู้ประท้วงโดยการใช้อาวุธร้ายแรงอย่างผิดกฎหมาย และได้ข่มขู่ผู้ประท้วงอย่างสันติ ในระหว่างการชุมนุมก็มีผู้ประท้วงบางคนที่ใช้อาวุธร้ายแรง ส่วนทางการได้ใช้กฎหมายเผด็จการเพื่อปิดปากเสียงที่เห็นต่าง รวมทั้งมีการเซ็นเซอร์อย่างกว้างขวาง

ระบบการเมืองในประเทศไทยได้เกิดความตึงเครียดอย่างมาก ภายหลังการเดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านทักษิณเมื่อปลายปี 2548 และการโค่นล้มเขาลงในปี 2549

แม้ว่าผลสำรวจความเห็นเบื้องต้นระบุว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะ แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะได้รับคะแนนเสียงมากพอที่จะตั้งรัฐบาลได้และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ยุติลงโดยมีผู้ถูกสังหารอย่างน้อย 92 คน โดยมีข้อกล่าวหาว่าผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายราย รวมทั้งมีการกล่าวหาว่าผู้ประท้วงบางคนมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรง รวมทั้งการเสียชีวิตของหลายคน

“ผ่านไปกว่าหนึ่งปีแล้ว แต่ยังไม่มีการนำตัวเจ้าหน้าที่คนใดมารับโทษต่อการเสียชีวิตในท้องถนนที่กรุงเทพฯ” เบนจามิน ซาวัคกี กล่าว “ในช่วงการเลือกตั้งสุดสัปดาห์นี้และหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดกรณีที่เกิดการชุมนุมประท้วงขึ้น ส่วนผู้ประท้วงเองก็ไม่ควรหันไปใช้ความรุนแรง”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่นำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตมาลงโทษ รวมทั้งผู้ที่รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตในระหว่างการประท้วงเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น